Thai  Thai

ที่พักปาย

เมืองน้อย : ชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์

 

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงเรื่องราวเมืองน้อยว่า ในรัชกาลของพระญาติโลกราช ปกครองเชียงใหม่ พ.ศ. 1984 – 2030 พระองค์มีโอรสชื่อท้าวบุญเรือง หรือศรีบุญเรืองครองเมืองเชียงราย ต่อมาถูกแม่ท้าวหอมุกกล่าวโทษ จึงให้ท้าวบุญเรืองไปครองน้อย ในที่สุดก็ถูกฆ่าตาย  เมื่อสิ้นสมัยพระญาติโลกราชแล้ว โอรสของท้าวบุญเรือง ชื่อพระญายอดเชียงรายได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์เชียงใหม่ ปกครองได้ไม่นานถูกกล่าวหาว่า พระองค์ ราชาภิเษกวันจันทร์ ถือว่าเป็นกาลกิณีแก่บ้านเมือง ไม่ประพฤติอยู่ในขนบธรรมเนียมของท้าวพระญา ไม่ประพฤติอยู่ในทศพิธราชธรรมและยังมีใจฝักใฝ่ไมตรีกับห้อ เสนาอำมาตย์จึงได้ล้มราชบัลลังค์ และได้อัญเชิญให้ไปครองเมืองน้อย ใน พ.ศ. 2038 พระญายอดเชียงรายประทับอยู่เมืองน้อยได้ 10 ปี ก็เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2048 เมื่อพระชนมายุได้ 50 พรรษา พระญาเมืองแก้วกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ราชโอรสของพระญายอดเชียงราย ได้เสด็จมาถวายพระเพลิงพระศพของพระญายอดเชียงรายที่เมืองน้อย และสร้างอุโบสถครอบ

ครั้นพระญาเมืองแก้วเสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. 2068 เสนาอำมาตย์ได้อัญเชิญพระอนุชาจากเมืองน้อยให้มาครองราชย์เชียงใหม่ และกทำราชาภิเษกเป็น พระญาเมืองเกส ใน พ.ศ. 2069 พระองค์ครองราชย์จนถึง พ.ศ 2081 (พระญาเมืองเกส ครองราชย์เมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2068 – 2081 ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2086 – 2088) เสนาอำมาตย์ไม่ชอบใจได้ปลดพระองค์ออกจากราชบัลลังค์ และอัญเชิญท้าวชาย ราชโอรสให้ครองราชย์แทน ในปี พ.ศ. 2081 ท้าวชายประพฤติตนไม่อยู่ทศพิธราชธรรม เสนาอำมาตย์ได้รอบปลงพระชนม์ใน พ.ศ. 2086 และได้อัญเชิญพระญาเมืองเกส จากเมืองน้อยมาครองราชย์ในเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งที่สอง

บ้านเมืองน้อยมีโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดเจดีย์หลวง” ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ มีแนวกำแพงกำหนดเขตพุทธาวาส ขนาด 80 X 100 X 1 เมตร ขนาดซุกซีวิหาร ฐานซุกซีอุโบสถขนาด 4 X 8.50 เมตร (สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระญายอดเชียงราย) ซุ้มประตูโขงด้านทิศตะวันออก เจดีย์ขนาด 11 X 11 X 17 เป็นเจดีย์แบบเชิงช้อนย่อเหลี่ยม บางส่วนยังมีลวดลายการก่ออิฐทำมุม เจดีย์ถูกสร้างขึ้นจากอิทธิพลของศิลปะเชียงใหม่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 –21 เจดีย์ถูกขุดค้นหาสมบัติลักษณะแบบผ่าอกไก่ จากยอดถึงฐานต่ำสุด มีหลุมลึกประมาณ 1 เมตร ทำให้มองเห็นฐานรากของการก่อสร้างเจดีย์ที่ใช้ก้อนหินธรรมชาติขนาดใหญ่วางซ้อนกันเป็นฐานราก ก้อนอิฐที่ใช้ก่อสร้างมีขนาด 6 X 11 นิ้ว และในบริเวณวัดเจดีย์หลวง ยังพบ จารึกบนแผ่นอิฐ 2 ชิ้น

จารึกหลักแรก พบในบริเวณด้านเหนือของโบราณสถาน จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยวน จำนวน 3 บรรทัด บรรทัดที่ 2 3 จารึกกลับหัว จากบรรทัดที่ 1 ความว่า “(1) เชแผง (2) เนอ เหย เหย (3) ฅนบ่หลายแล แล แล “ ความในจารึกชิ้นนี้กล่าวถึงนายเชแผง ผู้เป็นหนึ่งในผู้ปั้นอิฐในการก่อสร้างศาสนสถานแห่งนี้ รำลึกถึงคนจำนวนไม่มากนักในการสร้างศาสนสถานแห่งนี้ หรือในเมืองนี้

จารึกหลักที่สอง พบก่อร่วมกับอิฐก้อนอื่น ๆ ในบริเวณแนวกำแพงด้านใต้ของโบราณสถานจารึกด้วยอักษรฝักขาม ภาษาไทยวน จำนวน 1 บรรทัด ส่วนครึ่งแรกหายไป ส่วนครึ่งหลังอ่านได้ใจความว่า “สิบกา (บ)” จารึกชิ้นนี้บอกผู้ปั้นว่าสิบกาบ คำว่า “สิบ” อาจหมายถึงตำแหน่งขุนนางล้านนาสมัยโบราณ เรียกว่า “นายสิบ” หรือเนื่องจากอิฐส่วนหน้าที่หักหายไปบริเวณกี่งกลางของก้อนอิฐนั้น คำว่า “สิบกา(บ)” อาจสันนิษฐานได้ว่า ข้อความเต็มด้านหน้าที่หายไปเป็น “(ห้า) สิบกาบ” หรือขุนนางระดับนายห้าสิบก็อาจเป็นได้

วิวรรณ์ แสงจันทร์ กล่าวว่า จากหลักฐานโบราณคดี ซากวัดร้าง ต่าง ๆ จำนวน 30 แห่ง ในเมืองน้อย รวมทั้งวัดเจดีย์หลวง และข้อความที่พบ สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนที่นี่เป็นเมืองใหญ่ในอดีต มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอที่จะสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่จำนวนมากได้

 

สถานที่ท่องเที่ยว

Thai
© 2024 สงวนลิขสิทธิ์โดย บริษัทไทยทัวร์อินโฟ จำกัด โทร 02-1641001-2 email sales@choowap.com